ร่วมเป็นผู้ให้ ด้วยการบริจาค สเต็มเซลล์...

สเต็มเซลล์คืออะไร

คือ เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือ สเต็มเซลล์ เป็นเซลล์ตัวอ่อนของโลหิตที่ยังไม่เจริญเต็มวัย ซึ่งมีความสามารถในการเติบโตไปเป็นเซลล์เม็ดโลหิตแดง เซลล์เม็ดโลหิตขาว เกล็ดโลหิต และ ส่วนประกอบต่างๆ ของโลหิต

ไขกระดูก มีลักษณะเป็นโพรง และ มีเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มเหมือนเยลลี่ เป็นที่พำนักอาศัยของสเต็มเซลล์ ไขกระดูกนั้นจะพบได้ในแกนกลางกระดูกท่อนใหญ่ๆ ของร่างกาย เช่น กระดูกแขน กระดูกขา กระดูกเชิงกราน เป็นต้น หรือ เปรียบง่ายๆ ไขกระดูกนั้นเสมือนโรงงานขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่ในการผลิตเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตหรือ   สเต็มเซลล์นั่นเอง

นอกเหนือจากสเต็มเซลล์จะมีปริมาณมากอยู่ในไขกระดูกแล้ว สเต็มเซลล์บางส่วนยังกระจายตัวอยู่ในกระแสโลหิตที่ไหลเวียนในร่างกายอีกด้วย รวมทั้งสายสะดือรกเด็กแรกเกิดก็อุดมไปด้วยสเต็มเซลล์เช่นกัน

โรคที่สามารถรักษาได้ด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์

  1. กลุ่มโรคมะเร็งบางชนิด โดยโรคมะเร็งที่ยอมรับการการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตร่วมกับการรักษา ได้แก่ โรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  2. กลุ่มโรคไขกระดูกฝ่อ หรือทำงานบกพร่อง มีการสร้างเม็ดโลหิตลดลงทั้งหมดหรือเป็นบางชนิด เช่น โรคไขกระดูกฝ่อรุนแรง (severe aplastic anemia), Pure red cell aplasia, Myelofibrosis Osteopetrosis

กลุ่มโรคที่มีการสร้างของเม็ดโลหิตปกติ แต่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยต้องมีการสร้างเม็ดโลหิตแดงมากกว่าคนทั่วไป ที่เป็นปัญหาหลักของประเทศไทย ได้แก่ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย (Thalassemia), Hemoglobinopathies

การบริจาคสเต็มเซลล์

การบริจาคสเต็มเซลล์ทางไขกระดูก และการบริจาคสเต็มเซลล์ทางกระแสโลหิต ผู้ที่ผ่านการลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครฯ เรียบร้อยแล้ว ทางศูนย์บริการโลหิตฯ จะนำตัวอย่างโลหิตจากผู้บริจาคไปตรวจดูความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ HLA (เนื้อเยื่อบนเม็ดโลหิตขาว) และเก็บเป็นฐานข้อมูลไว้

ถ้าสเต็มเซลล์ตรงกัน! คุณอาจเป็นผู้มอบชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วย

การบริจาคสเต็มเซลล์ทางไขกระดูก

เป็นกระบวนการเก็บสเต็มเซลล์จากโพรงกระดูก โดยใช้เข็มพิเศษเจาะเก็บจากบริเวณสะโพกด้านหลัง กระบวนการนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งก่อนที่จะถึงกระบวนการเจาะเก็บข้างต้น ผู้บริจาคอาจต้องบริจาคโลหิตเก็บไว้ เพื่อนำมาให้ผู้บริจาคภายหลังจากที่ได้เจาะเก็บสเต็มเซลล์เรียบร้อยแล้ว โดยผู้บริจาคจะต้องนอนพักที่โรงพยาบาลหนึ่งคืน ทั้งนี้ ร่างกายสามารถสร้างสเต็มเซลล์ขึ้นมาทดแทนได้อย่างรวดเร็ว และผู้บริจาคสามารถกลับบ้านได้ในวันรุ่งขึ้น ใช้เวลาพักฟื้นร่างกายประมาณ 5-7 วัน

การบริจาคสเต็มเซลล์ทางกระแสโลหิต

ในการเก็บสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคทางกระแสเลือด จะเก็บตรงตำแหน่งเส้นเลือดดำ (antecubital vein) ที่ข้อพับแขน แต่ถ้าเส้นเลือดที่แขนเล็ก จำเป็นต้องใส่สายสวนเข้าหลอดเลือด ในการเก็บเซลล์จะดูดเลือดออกทางเส้นเลือดดำ (หรือสายสวน) เข้าเครื่องเก็บเซลล์ ซึ่งภายในเครื่องจะมีเครื่องปั่นตกตะกอน (centrifuge) เพื่อแยกเอา สเต็มเซลล์ออกมา (เทคนิคนี้เรียกว่า “apheresis”) ส่วนประกอบอื่นๆ ของเลือดจะคืนเข้าร่างกาย โดยใช้เวลาครั้งละ 2-3 ช.ม. เก็บวันละ 1 ครั้ง โดยทั่วไปจะเก็บเซลล์ 1-3 ครั้ง

 ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณเซลล์ที่เก็บได้ในแต่ละครั้งอาการที่อาจพบได้จากการเก็บเซลล์ คือ อาการชาบริเวณมือ และเท้า หรือ รอบๆ ปาก ซึ่งป้องกันได้โดยการรับประทานแคลเซียมก่อนเก็บเซลล์ ผู้บริจาคจะต้องฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว เข้าทางใต้ผิวหนังให้มีการสร้างเซลล์ออกมาในกระแสเลือด ซึ่งเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตและเม็ดเลือดขาว จะถูกสร้างขึ้นอย่างมากมาย เมื่อฉีดยาได้ 4 วัน โดยจะฉีดยาวันละครั้ง อาการข้างเคียงที่อาจพบได้จากการฉีดยา คือ อาการปวดเมื่อยร่างกาย หนาวสั่น เหมือนมีไข้ แต่หลังจากการบริจาคแล้วไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ

Cr http://health.mthai.com/health-news/pr-news/12935.html